วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2555

วัดพระศรีสรรเพชญ์


วัดพระศรีสรรเพชญ์

ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวิหารพระมงคลบพิตร เป็นวัดสำคัญที่สร้างอยู่ในพระราชวังหลวงเทียบได้กับวัดพระศรีรัตนศาสดารามแห่งกรุงเทพมหานครหรือวัดมหาธาตุแห่งกรุงสุโขทัย ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสร้างพระราชมณเฑียรเป็นที่ประทับที่บริเวณนี้ ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงย้ายพระราชวังขึ้นไปทางเหนือและอุทิศที่ดินเดิมให้สร้างวัดขึ้นภายในเขตพระราชวังและโปรดเกล้าฯให้สร้างเขตพุทธาวาสขึ้น เพื่อเป็นที่สำหรับประกอบพิธีสำคัญต่างๆ จึงเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา

     ต่อมาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระสถูปเจดีย์ใหญ่สององค์เมื่อ พ.ศ.2035 องค์แรกทางทิศตะวันออกเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของ


     สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถพระราชบิดา และองค์ที่สอง คือองค์กลางเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 พระบรมเชษฐา ต่อมาในปี พ.ศ. 2042 ทรงสร้างพระวิหารขนาดใหญ่และในปี พ.ศ.2043 ทรงหล่อพระพุทธรูปยืนสูง 8 วา (16 เมตร) หุ้มด้วยทองคำหนัก 286 ชั่ง (ประมาณ 171 กิโลกรัม) ประดิษฐานไว้ในวิหาร พระนามว่า “พระศรีสรรเพชญดาญาณ” ซึ่งภายหลังเมื่อคราวเสียกรุง พ.ศ. 2310 พม่าได้เผาลอกทองคำไปหมด ในสมัยรัตนโกสินทร์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญชิ้นส่วนชำรุดของพระประธานองค์นี้ลงมากรุงเทพฯและบรรจุชิ้นส่วนซึ่งบูรณะไม่ได้เหล่านั้นไว้ในเจดีย์องค์ใหญ่ที่สร้างขึ้นแล้วพระราชทานชื่อเจดีย์ว่า “เจดีย์สรรเพชญดาญาณ”

     สำหรับเจดีย์องค์ที่สามถัดมาทางทิศตะวันตก สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (พระหน่อพุทธางกูร) พระราชโอรสได้โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เจดีย์สามองค์นี้เป็นเจดีย์แบบลังกา ระหว่างเจดีย์แต่ละองค์มีมณฑปก่อคั่นไว้ซึ่งคงจะมีการสร้างในราวรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และมีร่องรอยการบูรณะปฏิสังขรณ์หนึ่งครั้งในราวรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามได้มีการบูรณะเจดีย์แห่งนี้จนมีสภาพที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน วัดนี้เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00–18.30 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท หรือสามารถซื้อบัตรรวมได้ ชาวไทย 60 บาท ชาวต่างประเทศ 180 บาท โดยบัตรนี้สามารถเข้าชมวัดและพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ ภายในระยะเวลา 30 วัน อันได้แก่ วัดพระศรีสรรเพชญ์และพระราชวังหลวง วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดพระราม วัดไชยวัฒนาราม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยาและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานศิลปากรที่ 3 โทร. 0 3524 2501, 0 3524 2448 หรือ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โทร. 0 3524 2284, 0 3524 2286 
หมายเหตุ ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.30-21.00 น. จะมีการส่องไฟชมโบราณสถาน

วัดใหญ่ชัยมงคล



วัดใหญ่ชัยมงคล

วัดใหญ่ชัยมงคลเดิมชื่อวัดป่าแก้วหรือวัดเจ้าพระยาไทย ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก จากกรุงเทพฯ เข้าตัวเมืองอยุธยาแล้วจะเห็นเจดีย์วัดสามปลื้ม (เจดีย์กลางถนน) ให้เลี้ยวซ้ายตรงไปประมาณ 1 กิโลเมตร จะเห็นวัดใหญ่ชัยมงคลอยู่ทางซ้ายมือ วัดนี้ตามข้อมูลประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าพระเจ้าอู่ทองทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1900 สำหรับเป็นสำนักของพระสงฆ์ซึ่งไปบวชเรียนมาแต่สำนักพระวันรัตน์มหาเถรในประเทศลังกา คณะสงฆ์ที่ไปศึกษาพระธรรมวินัยเรียกนามนิกายในภาษาไทยว่า “คณะป่าแก้ว” วัดนี้จึงได้ชื่อว่า วัดคณะป่าแก้ว ต่อมาเรียกให้สั้นลงว่า “วัดป่าแก้ว” ต่อมาคนเลื่อมใสบวชเรียนพระสงฆ์นิกายนี้ พระราชาธิบดีจึงตั้งอธิบดีสงฆ์นิกายนี้เป็นสมเด็จพระวันรัตน์มีตำแหน่งเป็นสังฆราชฝ่ายขวาคู่กับ

     พระพุทธโฆษาจารย์เป็นอธิบดีสงฆ์ฝ่ายคันถธุระมีตำแหน่งเป็นสังฆราชฝ่ายซ้าย หลังจากนั้นได้เปลี่ยนชื่อเป็น“วัดเจ้าพระยาไทย” สันนิษฐานว่ามาจากที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงสร้างวัดป่าแก้วขึ้น ณ บริเวณที่ซึ่งได้ถวายพระเพลิงพระศพของเจ้าแก้วเจ้าไทยหรืออาจมาจากการที่วัดนี้เป็นที่ประทับของพระสังฆราชฝ่ายขวา ซึ่งในสมัยโบราณเรียกพระสงฆ์ว่า “เจ้าไทย” ฉะนั้นเจ้าพระยาไทยจึงหมายถึงตำแหน่งพระสังฆราชในปี พ.ศ. 2135 เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทำศึกยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชแห่งพม่าที่ตำบลหนองสาหร่าย เมืองสุพรรณบุรี ทรงสร้างพระเจดีย์ใหญ่ขึ้นที่วัดนี้เป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะ การสร้างพระเจดีย์อาจสร้างเสริมพระเจดีย์เดิมที่มีอยู่หรืออาจสร้างใหม่ทั้งองค์ก็ได้ ไม่มีหลักฐานแน่นอน ขนานนามว่า “พระเจดีย์ชัยมงคล” แต่ราษฎรเรียกว่า “พระเจดีย์ใหญ่” ฉะนั้นนานวันเข้าวัดนี้จึงเรียกชื่อเป็น “วัดใหญ่ชัยมงคล” วัดนี้ร้างไปเมื่อคราวเสียกรุงครั้งสุดท้าย และเพิ่งจะตั้งขึ้นเป็นวัดที่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาเมื่อไม่นานมานี้ 
นอกจากนี้ยังมี วิหารพระพุทธไสยาสน์ สร้างในสมัยสมเด็จพระนเรศวร เพื่อเป็นที่ถวายสักการะบูชาและปฏิบัติพระกรรมฐาน ปัจจุบันมีการสร้างพระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีผู้นิยมไปนมัสการอย่างสม่ำเสมอเป็นจำนวนมาก ค่าเข้าชม ต่างชาติ คนละ 20 บาท
 

วัดพระมงคลบพิตร


วัดพระมงคลบพิตร

 ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของวัดพระศรีสรรเพชญ์ ใช้เส้นทางเดียวกับทางไปคุ้มขุนแผน วิหารพระมงคลบพิตรจะอยู่ถัดไปไม่ไกลนัก พระมงคลบพิตรเป็นพระพุทธรูปบุสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย มีขนาดหน้าตักกว้าง 9.55 เมตร และสูง 12.45 เมตร นับเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่องค์หนึ่งในประเทศไทย ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นระหว่างปี พ.ศ. 1991–2145 สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรดเกล้าฯให้ย้ายจากทิศตะวันออกนอกพระราชวังมาไว้ทางด้านทิศตะวันตกที่ประดิษฐานอยู่ในปัจจุบันและโปรดเกล้าฯให้ก่อมณฑปสวมไว้

     ในสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ เมื่อปี พ.ศ. 2249 อสุนีบาตตกลงมาต้องยอดมณฑปพระมงคลบพิตรเกิดไฟไหม้ทำให้ส่วนบนขององค์พระมงคลบพิตรเสียหายจึงโปรดเกล้าฯให้ซ่อมแซมใหม่ แปลงหลังคายอดมณฑปเป็นมหาวิหารและต่อพระเศียรพระมงคลบพิตรในสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ (พ.ศ. 2285–2286) ในคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 วิหารพระมงคลบพิตรถูกข้าศึกเผาเครื่องบนโทรมลงมาต้องพระเมาฬีและพระกรขวาของพระมงคลบพิตรหัก รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้การปฏิสังขรณ์ใหม่ สำหรับบริเวณข้างวิหารพระมงคลบพิตรทางด้านทิศตะวันออกแต่เดิมเป็นสนามหลวง ใช้เป็นที่สำหรับสร้างพระเมรุพระบรมศพของพระมหากษัตริย์และเจ้านายเช่นเดียวกับท้องสนามหลวงของกรุงเทพฯ

 

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสามพระยา


พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสามพระยา
สถานที่น่าสนใจในพิพิธภัณฑ์ ได้แก่
พระพุทธรูประทับนั่งห้อยพระบาท
     เป็นพระพุทธรูปสมัยทวาราวดีที่เคยประดิษฐานในซุ้มพระสถูป โบราณวัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐมซึ่งกรมศิลปากร ได้พยายามติดตาม ชิ้นส่วนต่าง ๆ ขององค์พระที่กระจัดกระจายไปอยู่ในที่ต่างๆ มาประกอบขึ้นเป็นองค์ได้อย่างสมบูรณ์ นับเป็นพระพุทธรูปที่มีค่ามากองค์หนึ่งเพราะในโลกมีเพียง 6 องค์เท่านั้น
เศียรพระพุทธรูปสัมฤทธิ์สมัยอู่ทอง
     
มีขนาดใหญ่มาก ได้จากวัดธรรมมิกราช แสดงถึงความเก่าแก่ ของวัด และฝีมือการหล่อวัตถุ ขนาดใหญ่ในสมัยโบราณ นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุที่ขุดพบอีกมากมายโดยเฉพาะที่ได้จากกรุวัดราชบูรณะรวบรวมไว้ในห้องมหรรฆภัณฑ์ มีเครื่องราชูปโภคทองคำทองกรพาหุรัตน์ ทับทรวง เครื่องประดับเศียรสำหรับชายและหญิง พระแสงดาบฝักทองคำประดับพลอยสีต่างๆ เป็นต้น แสดงความรุ่งเรืองของ กรุงศรีอยุธยาในอดีตไว้อย่างน่าชมน่าศึกษามาก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยาเปิดทำการตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. วันพุธ-วันอาทิตย์ ปิดวันจันทร์ วันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์ ค่าธรรมเนียมการเข้าชม ชาวไทยคนละ 10 บาท ชาวต่างประเทศคนละ 30 บาท รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ โทร. (035) 241587
เรือนไทยโบราณ
     ภายในเรือนไทย จะแสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่และของใช้ต่างๆ ในชีวิตประจำวันในสมัยก่อน เช่น ห้องครัว ห้องนอน ระเบียงนั่งเล่น ฯลฯ